วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556

3. เกาะหมากเปลี่ยนชื่อเป็นรัฐปีนัง ?



ปีนัง เป็นหนึ่งในสิบสามรัฐที่ประกอบขึ้นเป็นสหพันธรัฐมาเลเซียเดิมชาวมาเลย์รุ่นแรกเรียกว่า ปูเลา วา ซาตู หรือ เกาะเดี่ยว ต่อมาพบในแผนที่เดินเรือ เรียกว่า ปูเลา ปีนัง หรือเกาะหมาก ต่อมาอังกฤษเรียกว่า เกาะปรินซ์ ออฟ เวลส์ และเมื่อมาเลเซียได้รับเอกราช จึงเปลี่ยนเป็นปูเลา ปีนัง


  ต้นหมาก  
บนเกาะมีต้นหมากขึ้นอยู่มากมายทั่วทั้งเกาะ จึงถูกขนานนามว่า " เกาะหมาก "  แต่เดิมนั้นเกาะปีนังหรือเกาะหมากเคยเป็นส่วนหนึ่งของสยามประเทศ  ซึ่งเกาะหมากนี้ขึ้นอยู่กับเมืองไทรบุรีของไทยในอดีตหรือรัฐเคดะห์ของประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน  





                



ตามประวัติย่อ ๆ ของปีนังก็เริ่มตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์ตอนต้นที่อารยธรรมฮินดูแผ่อิทธิพลครอบคุมคาบสมุทรมลายูตอนเหนือ จวบจนกระทั่งการเข้ามาของชาวตะวันตกไม่ว่าจะเป็น โปรตุเกส ดัชท์และอังกฤษที่เข้ามาแสวงหาเครื่องเทศและผลประโยชน์ทางการค้า


 Sri Francis Light 






ต่อมาเซอร์ฟรานซิสไลท์ (Sri Francis Light) นักผจญภัยและพ่อค้าชาวอังกฤษได้เดินทางมาถึงยังเกาะปีนังเมือปี ค.ศ. 1786 ท่านเซอร์มีความคิดว่าการที่ได้มีโอกาสครอบครองเกาะปีนังแห่งนี้จะเป็นประโยชน์ในการที่จะทำให้เกาะปีนังแห่งนี้เป็นสถานีการค้าของบริษัทบริติช อีสท์อินเดียใช้เป็นที่พักเรือสินค้าเมื่อยามเดินทางไปค้าขายกับจีนและใช้เป็นฐานที่มั่นในการหาประโยชน์ทางการค้าให้กับอังกฤษในภูมิภาคนี้ โดยได้ขึ้นฝั่งที่ชายหาดปีนัง ท่านเซอร์เริ่มแผนงานพูดโน้มน้าวให้สุลต่านแห่งรัฐเคดะห์ยอมให้บริษัทบริติช อีสท์อินเดียทำการเช่าเกาะปีนังแลกกับการคุ้มครองไม่ให้ถูกรุกรานจากสยามประเทศซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่1 ได้สำเร็จ และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการเกาะปีนังเป็นคนแรก แต่ถึงอย่างไรก็ตามสุลต่านแห่งรัฐเคดะห์ก็ต้องเสียดินแดนบนคาบสมุทรในส่วนของเซอเบรังหรือเมืองบัตเตอร์เวอร์ธให้แก่สยาม


และเมื่อเซอร์ฟรานซิสไลท์ทำข้อตกลงกับราชสำนักเคดะห์เป็นที่เรียบร้อยแล้วจึงทำการยกพลขึ้นบกบริเวณที่เป็นที่ตั้งของศาลาว่าการเมืองในปัจจุบันโดยแต่เดิมบริเวณพื้นที่แห่งนี้เป็นป่ารกทึบบรรดาแรงงานที่ถูกอังกฤษเกณฑ์มาจากอินเดียทำการหักร้างถางพง ( บางประวัติก็เล่าว่าเขาเจตนายิงเหรียญทองคำเข้าไปในป่าแถบนั้นเพื่อเป็นอุบายให้ลูกน้องของเขา , แรงงานชาวอินเดียที่นำมา และชาวเกาะช่วยถางป่าให้ ) 
พ่อค้าพานิชย์ต่างพากันมุ่งหัวเรือเข้ามาทำการค้าขายที่เกาะปีนัง
จากนั้นทำการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้กลายเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าและตั้งชื่อเกาะนี้ว่า เกาะปริ๊นซ์ออฟเวลส์ ( Prince of WalesIsland)   และเมื่ออังกฤษได้เกาะปีนังมาครอบครองจึงตั้งเป็นท่าเรือเสรีโดยไม่เก็บภาษีการค้า ทำให้บรรดาพ่อค้าจากเมืองต่างๆหลั่งไหลกันเข้ามาตั้งรกรากกันบนเกาะปีนังทั้งชาวจีน อินเดีย และชวาโดยเฉพาะชาวจีนที่โล้สำเภามาจากเมืองฟูเจี้ยน ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ของปีนังเป็นชาวจีน ซึ่งต่างจากรัฐอื่นของมาเลเซียที่มีชาวมาเลย์มากกว่า ส่วนใหญ่ชาวจีนจะเป็นผู้คุมเศรษฐกิจเกือบทั้งหมด ส่วนชาวมาเลย์จะรับราชการและอื่นๆ ตามนโยบาย "ภูมิบุตรา" หรือลูกหลานแห่งแผ่นดิน ซึ่งเป็นนโยบายประชานิยมฉบับมาเลเซีย ที่ให้สิทธิพิเศษแก่คนมาเลย์ตั้งแต่เกิด เพื่อให้มีโอกาสได้แข่งขันกับคนจีนในสังคมเดียวกันหลังจากนั้นเป็นต้นมา ประชากรบนเกาะปีนังจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกลายเป็นชุมชนเมืองจึงตั้งชื่อเมืองท่าแห่งนี้ว่า George town ตามพระนามของพระเจ้าจอรจ์ที่ 3 แห่งอังกฤษ 

  ดร.มหาเธร์ มูฮัมหมัด  

หมายเหตุ - ดร.มหาเธร์ อดีตนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า " นโยบายภูมิบุตรา " ที่รัฐบาลหยิบยื่นให้ชาว มาเลย์นั้นไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้ชาวมาเลย์ยืนอยู่บนขาของตัวเองไม่ได้ ดร.มหาเธร์ เปรียบเปรยว่า ชาวมาเลย์นั้นชอบเดินด้วยไม้เท้า ไม่นานก็จะเป็นอัมพาต ( แต่ชาวมาเลย์ชอบใช้ไม้เท้าเพราะมันง่าย กว่าการยืนอยู่บนขาของตัวเอง )


ต่อมาในปี ค.ศ. 1800 สุลต่านเคดะห์ได้ยกดินแดนในส่วนที่อยู่บนพื้นแผ่นดินใหญ่คือจังหวัดเวลสเลย์ (Wellesley)ซึ่งตั้งชื่อตามผู้สำเร็จราชการแห่งอังกฤษประจำอินเดียตราบจนกระทั่งในปี ค.ศ. 1832  ดินแดนปีนังทั้งหมดถูกรวมเป็นอาณานิคมของอังกฤษพร้อมกับมะละกาและสิงค์โปร์ เกาะปีนังเป็นศูนย์กลางของการค้าเครื่องเทศ  เครื่องกระเบื้อง ชาและผ้า สินค้าเหล่านี้มีค่ามากกว่าทองคำในสมัยนั้น  เกาะปีนังอยู่ในการปกครองของอังกฤษมาประมาณร้อยกว่าปีจนมาเลเซียได้ประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นตรงต่ออังกฤษอีกต่อไป โดยประกาศอิสรภาพที่เมืองมะละกาในปี ค.ศ. 1957 จนถึงวันนี้เป็นเวลา 50 กว่าปีแล้ว  ปัจจุบันปีนังได้รับการยกฐานะให้เป็นรัฐหนึ่งในสหพันธ์รัฐมาเลเซียเมื่อปี ค.ศ. 1963 หลังจากนั้นเมืองปีนังได้รับการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการท่องเที่ยวกลายเป็นเมืองใหญ่ที่มีเรื่องราวประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจมากมาย และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวทั่วทุกมุมโลกรู้จักตราบจนทุกวันนี้ ...














ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น